Thursday, December 25, 2014

เปิดเคล็ดลับเลี้ยงปลาหางนกยูง เกรด A ของ ลุงพิทยา เพชรอุดม

วันที่ 01 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 16 ฉบับที่ 340

ปลาสวยงาม

ปรัชญา รัศมีธรรมวงศ์

เปิดเคล็ดลับเลี้ยงปลาหางนกยูง เกรด A ของ ลุงพิทยา เพชรอุดม

สำหรับฟาร์มปลาหางนกยูงธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ที่ผู้เขียนกำลังจะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักแห่งนี้อยู่ในย่านชุมชนใจกลางเมืองก็ว่าได้ เพราะอยู่แถวถนนวงศ์สว่าง ทางเข้าฟาร์มก็หาไม่ยาก อยู่ห่างจากปากทางเข้าวัดทางหลวงไม่ถึง 200 เมตร สังเกตทางด้านซ้ายมือให้ดี หากเห็นบ้านไม้ชั้นเดียวที่มีป้ายราคาซื้อขายปลาสวยงามติดเอาไว้หน้าบ้านล่ะก้อ รับรองมาไม่ผิดบ้านแน่นอน

เจ้าของบ้านแห่งนี้คือ คุณลุงพิทยา เพชรอุดม แต่คุณลุงยังดูหนุ่มกระชุ่มกระชวยอยู่มากกว่าตัวเลขวัย 60 กว่าปี คุณลุงอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 160 หมู่ 6 ถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี ตำบลบางเขน อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 โทร. (09) 234-6999, (02) 527-2510

จุดเริ่มต้นของการเลี้ยงปลาหางนกยูงของคุณลุงมาจากลูกเขยเป็นคนนำพันธุ์มาให้เพาะเลี้ยงก่อน โดยซื้อสายพันธุ์ปลาคุณภาพมาจากฟาร์มปลาในตลาดซันเดย์ โดยสายพันธุ์ปลาที่นำมาเลี้ยงนั้น เป็นปลาสายพันธุ์ดี อายุประมาณ 4 เดือน ที่สามารถนำไปเพาะและแพร่พันธุ์ได้ในระยะเวลาไม่นานก็สามารถทำเงินได้แล้ว

สำหรับการผสมพันธุ์ปลา ต้องเลือกใช้พ่อแม่พันธุ์ปลาที่มีสีสันไม่เพี้ยนแล้วนำตัวผู้ 2 ตัว ต่อตัวเมีย 1 ตัว มาขังเอาไว้ในกะละมังเดียวกัน ภายในระยะเวลา 2 เดือน คอยสังเกตดูว่าปลาจะตั้งท้องหรือยัง ซึ่งก็ใช้ระยะเวลาไม่นานผู้เลี้ยงก็จะเห็นว่ามีลูกปลาหางนกยูงเต็มกะละมัง ต้องรีบตักพ่อแม่พันธุ์ปลาออก เพราะมันอาจกินลูกปลาได้

สำหรับการให้อาหารปลาในแต่ละวันจะให้เพียงวันละ 2 มื้อ คือช่วงเวลาเช้า 10.00 น. และช่วงบ่ายเวลา 14.00 น. อาหารที่เหมาะสำหรับปลาหางนกยูง ได้แก่ ไรแดง ไรทะเล ลูกน้ำ ในกรณีที่ให้อาหารเม็ดจำเป็นต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด โดยผู้เลี้ยงต้องรอให้ปลากินอาหารให้พอกับความต้องการของปลาก่อน จึงค่อยช้อนอาหารออก เพื่อป้องกันน้ำเสีย

คุณลุงพิทยา ยังบอกอีกว่า การเลี้ยงปลาหางนกยูงไม่ยุ่งยากอะไรเลย เป็นโรคก็น้อย โรคที่พบบ่อยก็คือ โรคเปลือยเน่าที่มักเกิดขึ้นตามลำตัวและบริเวณหาง โดยปลาจะมีอาการตกเลือดอย่างเห็นได้ชัด และบางครั้งปลาก็อาจจะเป็นโรคจุดขาว หรือมีปัญหาเรื่องเห็บและหนอนเสมอ ฯลฯ

สังเกตได้ว่า เมื่อปลามีอาการป่วย มักจะมีอาการซึม เบื่ออาหาร กินอาหารได้น้อยลง และว่ายน้ำแบบผิดปกติ คือมีอาการลำตัวแข็ง คุณลุงแนะนำให้รีบแยกปลาที่เป็นโรคออกจากกลุ่มปลา เพื่อนำมารักษาทันที โดยนำปลาที่ป่วยมาแช่น้ำยาฆ่าเชื้อโรค ชื่อว่า มาลาไคต์ กรีนเอฟ ในน้ำทุก 7 วัน โดยนำยามาผสมน้ำ ในอัตรา ยา 6 หยด ต่อ น้ำสะอาด 1 แกลลอน

ถ้าปลามีอาการป่วยหนักมาก ก็ต้องแยกปลาออกมาจากกะละมัง แล้วนำมาแช่น้ำยาอย่างน้อย 3 วัน ปลาก็จะมีอาการดีขึ้น การเปลี่ยนน้ำให้ปลาควรเปลี่ยนน้ำทุกอาทิตย์ ในสัดส่วนประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำในกะละมังหรือน้ำในตู้ปลาหรือการเปลี่ยนน้ำใหม่ในตู้ทั้งหมด ควรปล่อยน้ำทิ้งไว้ในตู้อย่างน้อย 2-3 วัน ก่อนนำปลาลงไปเลี้ยง เพื่อป้องกันอาการช็อกของปลา และให้ออกซิเจนกับปลาด้วย

คุณลุงพิทยา เล่าว่า การเลี้ยงปลาหางนกยูง หากปลาเกิดโรคแล้วไม่รีบรักษา ก็อาจเกิดปัญหาปลาตายยกตู้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นปลาที่ได้รับการผสมสายจนสายพันธุ์นิ่งแล้ว สำหรับการผสมพันธุ์ปลาในแต่ละรุ่น แม่ปลาสามารถผสมพันธุ์ได้มากถึง 3 รุ่น ทุก 3 อาทิตย์ ปลาจะให้ลูกตลอด หากเป็นแม่ปลาที่มีการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์จนนิ่งแล้วก็จะให้ลูกปลามากถึง 4 ครั้ง

คุณลุงพิทยา มองว่าตลาดการค้าปลาสวยงามภายในประเทศยังเป็นสินค้าที่มีอนาคตสดใส เพราะคนไทยส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงปลาสวยงามเอาไว้ในบ้านอยู่แล้วจะเป็นปลาสายพันธุ์ใดก็ได้ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ตลาดปลาหางนกยูงอยู่ในช่วงขาลง แต่มาปัจจุบันนี้ตลาดการค้าปลาสวยงามเริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะตลาดปลาหางนกยูงเห็นได้จากการนำเข้าปลาหางนกยูงสายพันธุ์ญี่ปุ่นเข้ามามาก

ตลาดซื้อขายปลาหางนกยูงโดยมากจะขายได้ดีเฉพาะปลาเพศเมีย เพราะสามารถนำไปขยายพันธุ์ต่อได้ แต่คุณลุงพิทยาจะไม่ขายปลาเพศเมียมากนัก เพราะต้องเก็บเอาไว้เป็นแม่พันธุ์ต่อไป ปลาหางนกยูงของคุณลุงพิทยาจะวางขายที่บ้านและนำปลาไปขายส่งให้แก่พ่อค้าที่ตลาดซันเดย์ในวันเสาร์ ซึ่งมีรายได้จากการขายปลาไม่ต่ำกว่าครั้งละ 500 บาท ขึ้นไป ส่วนลูกค้าที่เข้ามาเลือกซื้อปลาที่บ้านก็สามารถซื้อปลาได้ในราคาถูก และยังสามารถที่จะเลือกพันธุ์ปลาได้อย่างสะดวกอีกด้วย

คุณลุงพิทยา บอกว่า การซื้อขายปลาหางนกยูงในตลาดทั่วไป ส่วนใหญ่มักจะเป็นปลาที่ไม่ผ่านการคัดสายพันธุ์ที่ดี สำหรับปลาหางนกยูงจากฟาร์มของคุณลุงพิทยากับลูกเขยที่ช่วยกันเพาะขึ้นมาจำหน่ายล้วนเป็นปลาที่ผ่านการคัดเลือกสายพันธุ์อย่างดี จนสายพันธุ์นิ่งก่อนแล้วทั้งสิ้น

ย้อนกลับมาดูเรื่องเทคนิคการเพาะพันธุ์ปลาหางนกยูงเพื่อให้ได้สีหลักที่ไม่เพี้ยนจากคุณลุงพิทยากันดูบ้าง คุณลุงพิทยาเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ที่ฟาร์มจะมีปลาหางนกยูงสายพันธุ์ไทย 60 เปอร์เซ็นต์ ปลาหางนกยูงสายพันธุ์ญี่ปุ่น 40 เปอร์เซ็นต์ อย่างปลาญี่ปุ่นสีเดียว เช่น สีแดงล้วน น้ำเงิน ขาว เหลือง และสีที่ทำยากๆ จะมีการคัดเลือกพันธุ์ที่ดีจนนิ่งก่อน ราคาปลาจึงค่อนข้างที่จะแพงสักหน่อย ซึ่งปลาชนิดนี้จะมีลักษณะของสีตา 2 ชนิด คือ สีตาแดง และตาดำ โดยปลาที่ตาสีแดงจะมีราคาที่แพงกว่าปลาตาดำ

รูปแบบหลักๆ ของปลาหางนกยูงที่ได้รับความนิยม ได้แก่ RibbonFin คือ ปลาที่มีครีบท้องและครีบหลังยาว มีลักษณะคล้ายปลาเทวดา รูปร่าง ส่วน Swaliow จะมีลักษณะคือ มีครีบท้องและครีบหลังคล้ายปลาเทวดา หางเป็นแฉก ลักษณะคล้ายนกนางแอ่น ยืดยาวออกมาแบบผิดปกติ (ยาวมาก) เป็นแฉกลึก การผสมพันธุ์ให้ได้ปลารูปร่างเหล่านี้ต้องใช้แม่พันธุ์เป็น ริบบอน ฟิน หรือสวอลโลว์ ส่วนพ่อพันธุ์ต้องใช้พ่อพันธุ์ที่มีครีบธรรมดา เนื่องจากปลาตัวผู้ของทั้งสองลักษณะมีครีบเพศยาว ไม่สามารถผสมพันธุ์ได้ แต่ก็เป็นสายพันธุ์เดียวกับแม่พันธุ์

ส่วนสายพันธุ์ที่ทางฟาร์มเลี้ยงอยู่ ได้แก่ ปลาสายพันธุ์จากญี่ปุ่นที่มีสีเหลืองทอง บริเวณลำตัวและหางมีลายคล้ายหนังงู ปลาหางนกยูงจำพวกนี้จะอยู่ในตระมึงลของ King Cobra ส่วน Full Platinum Albino เป็นปลาพันธุ์ญี่ปุ่น ที่มีสีเหลืองทองทั้งตัวและตาสีแดง

ส่วนปลาสายพันธุ์ที่พัฒนาในประเทศไทย อาทิ พันธุ์ชิลีโมเสต มีลักษณะลำตัวใหญ่หนา หางเป็นทรงพัดหนา ลำตัวเป็นสีฟ้าเงินแต้มด้วยจุดสีส้ม และหางต้องเป็นสีน้ำเงิน ดอกสีแดงเป็นลายคล้ายกระเบื้องโมเสต ปลาชนิดนี้จะเน้นรูปร่างสวย การพัฒนาปลาสายพันธุ์ไทย ทางฟาร์มเน้นการพัฒนาให้มีหางใหญ่ หนา หากหางกางองศาถึง 180 องศา จะเป็นปลาที่ดีเยี่ยม เทคนิคการพัฒนาให้ได้ลักษณะดังกล่าวคือ จะต้องคัดแม่พันธุ์ที่มีหางใหญ่มาก มาใช้ทำพันธุ์เท่านั้น เนื่องจากลักษณะของลูกปลาจะตรงตามแม่พันธุ์ ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ พ่อพันธุ์ 20 เปอร์เซ็นต์

การผสมปลาหางนกยูงทุกสายพันธุ์ ทั้งที่เป็นหางธรรมดา ริบบอน หรือสวอลโลว์ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาหางนกยูงชนิดนี้ต้องผสมคอกเดิมไม่เกิน 3 ครั้ง หลังจากนั้นจึงหาปลาสายเดียวกันจากครอกอื่นเข้ามาผสมด้วย และถ้าไม่มีการผสมข้ามสายเลือด ปลาหางนกยูงจะมีเลือดชิด มีสีที่ผิดเพี้ยนและจะมีลักษณะด้อย ขายไม่ได้ราคา

ปลาหางนกยูงที่มีความสวยงามพลิ้วไหวในยามที่แหวกว่ายน้ำจะโชว์ความแปลกของสายพันธุ์ และถ้าสามารถผสมสายพันธุ์ปลาให้สายพันธุ์นิ่งแล้ว ปลาจะมีลักษณะที่ด้อยแบบสุดๆ และมีความแปลกแบบสุดๆ ราคาก็จะแพงเช่นกัน เพราะถือว่าปลาที่มีลักษณะผิดปกติจะหาดูได้ยาก จะมีราคาแพงเช่นกัน เช่น ปลาตาแดง ปลาที่มีสีล้วนอย่างปลาหางนกยูง ที่ตาแดงควรที่จะมีการผสมในกลุ่มเดียวกันจึงจะดี และปลาสีล้วนก็ควรที่จะผสมในกลุ่มเดียวกันเช่นกัน

หากจะดูว่า ปลาสีใดผสมสีใด ออกมาแล้วเป็นสีอะไร จะเป็นความสุขอย่างหนึ่งของผู้ที่สามารถเพาะเลี้ยงปลาหางนกยูงออกมาได้ โดยผู้เลี้ยงจะต้องตั้งลักษณะและสีสันของปลาในอุดมคติที่ต้องการไว้ จากนั้นนำปลาที่คาดว่าจะผสมแล้วได้ปลาตามที่ตั้งในอุดมคติมาใช้เป็นพ่อ-แม่พันธุ์ ซึ่งการผสมบางครั้งต้องใช้เวลาถึง 2-4 รุ่น คือรุ่นหลาน หรือเหลน กว่าจะได้ปลาตามที่ต้องการ

ความเด่นที่สีของปลาตามสายพันธุ์และพันธุกรรมของปลา เช่น สีดำ น้ำเงิน เป็นปลาที่มีลักษณะสีที่เด่นสุดๆ หากนำไปผสมกับสีอื่น ก็จะได้ลูกปลาที่มีสีดำ หรือน้ำเงินทั้งหมด หากนำปลาสีดำผสมกับปลาสีลายทั้งตัวจะได้สีดำล้วนๆ เช่นกัน ส่วนปลาสีน้ำเงิน หรือเขียว ที่เป็นสีโทนเย็นหากนำมาผสมกับปลาสีแดง จะออกมาเป็นสีเทา ซึ่งตลาดไม่นิยม ส่วนปลาสีพื้น เช่น สีเหลืองผสมกับสีแดง อาจจะได้ปลาสีแดงทั้งหมด เนื่องจากสีแดงเป็นสีที่เด่นกว่า หรือได้ปลาสีแดงอมส้มหรือเหลือง หากเป็นปลาที่ต้องการตามอุดมคติหรือใกล้เคียง ก็นำไปพัฒนาเป็นสายพันธุ์ใหม่ต่อไป

ส่วนการพัฒนาปลาสายพันธุ์ใหม่อาจเกิดจากการผ่าเหล่า ของพ่อ-แม่พันธุ์สายพันธุ์เดียวกัน โดยไม่ต้องผสมข้ามสายพันธุ์ก็ได้ อย่างที่ฟาร์มนี้ คิงคอบบร้า เรดเทล ก็เกิดจากปลาพันธุ์เวเนซุเอลา ที่ออกลูกมาเป็นปลาตัวผู้สีเหลืองลายหนังงูทั้งตัว หรือเป็นลักษณะของคิงคอบบร้า ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ของลูกปลาทั้งครอก ก็สันนิษฐานว่าปลาตัวเมียในครอกเดียวกันน่าจะมีเลือดผ่าเหล่าด้วย จึงนำมาผสมในครอกเดียวกันออกมาอีกครั้ง ก็จะได้คิงคอบบร้าเพิ่มขึ้นเป็น 30 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ก็พัฒนาต่อไปยังรุ่นหลานหรือเหลนให้ได้เลือด 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ได้จากการผ่าเหล่าเช่นเดียวกัน ก็คือสายพันธุ์บลูโมเสก สเน็กสกิน ซึ่งเป็นปลาที่สวยงามมาก มีลักษณะตัวเป็นลายงูคล้ายคอบบร้า แต่หางเป็นลายตาข่ายคล้ายโมเสกสีพื้นเป็นขาว อมเขียว และฟ้า เกิดจากปลาหางนกยูงพันธุ์ 7 สี ที่ผ่าเหล่า และคัดสายพันธุ์จนไม่มีสีแดงปนเปื้อน นับเป็นปลาที่หาได้ยากมากในประเทศไทยขณะนี้

นอกจากนั้น คุณลุงพิทยา ยังบอกอีกว่า การลงทุนเพาะเลี้ยงปลาหางนกยูงถ้าจะให้ดี มีคุณภาพตรงตามที่ตลาดต้องการ ควรรู้จักที่จะศึกษาหาข้อมูลต่างๆ ให้มาก เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการเลี้ยงปลา แต่สิ่งที่สำคัญต้องได้สายพันธุ์ปลาหางนกยูงที่ดีมีคุณภาพตรงตามสายพันธุ์ที่นิ่งแล้วจากแหล่งผลิตที่มีความเชื่อถือได้ ส่วนเรื่องของการลงทุนควรที่จะค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากหลักร้อยมาเป็นหลักพัน แล้วค่อยๆ ทยอยเลี้ยงไป สามารถขยายพันธุ์ปลาเพิ่มขึ้นได้เอง

และถ้าจะให้เลี้ยงปลาแล้ว สามารถที่จะจำหน่ายพ่อแม่พันธุ์ปลาได้เลย ต้องมีเงินทุนในการซื้ออุปกรณ์ 10,000 บาท ค่าพันธุ์ปลาจากแหล่งปลาคุณภาพดีอีก 2,000 บาท ในกรณีที่ไม่มีเงินทุนมากพอ สามารถที่จะเลี้ยงปลาสวยงามแบบค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ ไม่จำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์อะไรให้มากมาย ส่วนพ่อแม่พันธุ์ปลา ซื้อเพียง 2-3 คู่ ก่อนก็พอแล้ว ค่าอาหารปลา วันละ 40-60 บาท ยารักษาโรคปลา ขวดละ 50 บาท ใช้ได้นานเป็นเดือนๆ หรือหากจะไม่ใช้ยาฆ่าเชื้อโรคแต่จะใช้วิธีธรรมชาติในการรักษาโรคของปลาก็ได้เช่นกัน โดยการใช้ใบหูกวางแช่น้ำแล้วนำตัวปลาไปแช่ในน้ำใบหูกวาง เท่านี้ก็สามารถรักษาโรคปลาได้เช่นกัน รวมทั้งการใช้จอก แหน สาหร่าย ที่หาได้จากแหล่งตามธรรมชาติช่วยบำบัดน้ำเสียภายในอ่างเลี้ยงปลา และต้องเลี้ยงปลาด้วยใจรักและใส่ใจดูแลปลาด้วยถึงจะได้ปลาคุณภาพ สิ่งสำคัญที่นักเลี้ยงปลาหน้าใหม่ต้องคำนึงถึงก็คือ เรื่องของสถานที่เลี้ยงปลา ผู้เลี้ยงปลาควรมีพื้นที่หน้าบ้านหรือหลังบ้านไว้สำหรับเลี้ยงปลาและขยายพันธุ์ปลา ประมาณ 10x5 เมตร และถ้าหากคิดจะหาแหล่งจำหน่ายปลาดีมีคุณภาพ ก็สามารถติดต่อมาได้ตามที่อยู่ข้างต้น

ที่มา :วารสารเทคโนโลยีชาวบ้าน
Digital timer ควบคุมการเปิดปิด ปั๊มน้ำในตู้ปลา 
ตั้งเวลาได้หลายช่วงเวลา ช่วยประหยัดไฟฟ้า 

ตัวช่วยเติมระบบอากาศในน้ำ ในบ่อปลา มีขนาดตั้งแต่ 1/2-1.5 นิ้ว ช่วยทำให้สุขภาพปลาในบ่อดีขึ้น โดยการเติมอากาศเข้าไปใต้น้ำ น้ำให้น้ำสะอาดและเพิ่มออกซิเจนในน้ำ  น้ำในบ่อจะได้ไม่เสีย
ก่อนใช้ระบบเติมฟองอากาศ



หลังใช้ระบบเติมฟองอากาศ




ติดต่อได้ที่ ออนนิออร์แกนิคฟาร์ม กาญจนบุรี
Tel:0860447460
Line:bac-phakanon

No comments:

Post a Comment